ภาคเหนือ
จังหวัดพิษณุโลก
ถ้ำฝ่ามือแดง
ที่ตั้ง
เขาผาท่าพล ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
พิกัดทางภูมิศาสตร์
ไม่พบ
สถานที่ตั้ง
สภาพที่ตั้ง
เป็นเพิงผาบนเขาผาท่าพล เพิงผาฝ่ามือแดงนี้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใกล้ถ้ำผาแดงซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่มีทางเข้าออก
2 ทาง
การค้นพบ
ในปี พ.ศ. 2537 นายวัฒนชัย สุวัณณะศรี ปลัดอาวุโส อำเภอเนินมะปราง ได้ไปสำรวจกับนายอุไร นานาม ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขา ผาท่าพล ซึ่งเคยพบเศษกระดูกคน ขวานหิน และก้อนหินกลมเจาะรูในถ้ำผาแดง (ปัจจุบันเก็บรักษาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก) ได้พบแหล่งภาพเขียนสีที่ผาฝ่ามือแดง ใกล้ถ้ำผาแดงด้วย
หลักฐานทางโบราณคดี
บริเวณใต้เพิงผานี้สำรวจพบเพียงเครื่องมือหินกะเทาะ 4 ชิ้น เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ 1 ชิ้น เปลือกหอยน้ำจืด เศษกระดูกมนุษย์ และกระดูกสัตว์ ยังไม่ได้ทำการขุดค้นทางวิชาการ
ลักษณะของถํ้าและภาพเขียนสี
เพิงผานี้ยาวประมาณ 40 เมตร ห่างจากริมหน้าผาประมาณ 20 เมตร บริเวณที่พบภาพเขียนสีอยู่ตอนกลางของเพิงผา
ภาพปรากฏตามแนวยาวประมาณ 10 เมตร สูงจากพื้น 1.5-5 เมตร
ภาพเขียนสีเป็นภาพลายเส้นและภาพมือ 35 ภาพ เขียนด้วยสีแดงเข้ม สีแดงปนน้ำตาล ภาพมือนั้นมี 4 แบบ คือ แบบพ่น แบบทาบ แบบเขียนอิสระ และแบบเขียนรอบมือ ภาพมือแบบทาบมีมากที่สุด มีทั้งมือซ้ายและมือขวา บางแห่งมีการทำซ้อนทับกัน เป็นมือทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
ส่วนภาพลายเส้นนั้นมีทั้งเส้นโค้งคู่ขนาน ลายหยักฟันปลา ลายจุดไข่ปลา 2 แถว เป็นต้น
ภาพมือกับลายเส้นนี้น่าจะมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้พบโดยทั่วไปในแหล่งภาพเขียนสีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ